โรคหืด (Asthma) เป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมาน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลง หากมีอาการหอบหรือภาวะหืดกำเริบรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินหรือพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้สูญเสียรายได้และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง การเข้าใจในโรค รวมถึงแนวทางการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และการใช้ยาด้วยเทคนิคที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น โดยโรคหืดถือได้ว่าเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคหืดราว 7% ในผู้ใหญ่ และ 10-15% ในเด็ก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในปี 2017 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหืดถึง 6,808 ราย โดยคิดเป็น 7.76 รายต่อประชากร 1 แสนคน หรือ 1.3% ของคนที่เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคนี้ในระดับโลกแล้วพบว่า ประเทศไทยจัดเป็นอันดับที่ 76 ของโลก โดยจัดเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคอื่นๆ พบว่าโรคหืดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไทยเป็นอันดับที่ 19 โดยอันดับที่ 1-3 คือ หลอดเลือดหัวใจ ไข้หวัดใหญ่/ปอดบวม และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้บรรจุแผนการดูแลรักษาโรคหืดในแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หรือ Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคหืดในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เนื่องจากเรามีองค์ความรู้และยาที่พัฒนามากขึ้น ดังนั้นการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดตามวิทยาการสมัยใหม่ รวมถึงแนวทางการบริหารยาโรคหืดในรูปแบบสูด (Inhaler Devices) อย่างถูกวิธี กับบุคลากรทางการแพทย์ จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ช่วยให้ลดขั้นตอนการดูแลรักษา และส่งผลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเกิดประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดตามวิทยาการสมัยใหม่ กับเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการบริหารยาโรคหืดในรูปแบบสูด (Inhaler Devices) อย่างถูกต้อง เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ
จัดขึ้นที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี และ ถ่ายทอดสัญญาณผ่านสื่อดิจิทัล ในัวนที่ 25 มิถุนายน 2564
ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/yy1tX1QBdGmiFZGD6
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=seminar_detail&subpage=seminar_detail&id=3481